โรงเรียนบ้านโพนเมืองมะทัน (Polmungmatan school) ตั้งอยู่ที่ หมู่ที่ 6 บ้านโพนเมืองมะทัน ตำบลหนองเหล่า อำเภอม่วงสามสิบ จังหวัดอุบลราชธานี รหัสไปรษณีย์ 34140 โทรศัพท์ 081-760-2741 สังกัด สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาอุบลราชธานี เขต 1 เปิดสอนตั้งแต่ระดับชั้นอนุบาลปีที่ 1 ถึงระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 มีเขตพื้นที่บริการ 5 หมู่บ้าน ได้แก่ หมู่ที่ 5 หมู่ที่ 6 หมู่ที่ 8 หมู่ที่ 13 และหมู่ที่ 14 ตำบลหนองเหล่า อำเภอม่วงสามสิบ จังหวัดอุบลราชธานี มีเนื้อที่ 24 ไร่ - งาน - ตารางวา
โรงเรียนบ้านโพนเมืองมะทัน ก่อตั้งขึ้นครั้งแรกเมื่อวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2454 ด้วยความร่วมมือของกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และราษฎร ในตำบลหนองเหล่า โดยอาศัยศาลาวัดเป็นสถานที่เรียน มี พระจันที มีทรัพย์ เป็นครูผู้สอน การจัดการเรียนการสอนในยุคสมัยเริ่มแรก เป็นการสอนเหมือนกับสอนศิษย์วัด งบประมาณต้องอาศัยปัจจัยจากชาวบ้านตามแต่กำลังศรัทธา
พ.ศ. 2456 | จัดให้มีบัญชีเรียกชื่อนักเรียน วัสดุอุปกรณ์ได้รับจากราษฎร์ คนละ 20 สตางค์ เป็นค่าบำรุงและทำรายงานส่งอำเภอทุกเดือน |
พ.ศ. 2461 | จัดให้มีสมุดบัญชีนักเรียน และสมุดหมายเหตุรายวันเป็นการถาวร ต่อมา พระจันที มีทรัพย์ ได้ลาออกตำแหน่งครูสอน ทางอำเภอได้บรรจุสามเณร จันทา ศรีเมืองซอง มาทำการสอนแทน |
พ.ศ. 2462 | ทางอำเภอได้บรรจุ พระคูณ มีธรรม มาทำการสอน ต่อมาได้ลาออก |
พ.ศ. 2466 | ทางอำเภอได้ย้าย นายปลั่ง ทองนนท์ มาเป็นครูใหญ่ จัดการเรียนการสอนมีชั้น ป.1 ก และ ป. 1 ข และในปีนี้ได้ประกาศใช้พระราชบัญญัติประถมศึกษา มีนักเรียนทั้งหมด169 คน มีครู 5 คน แบ่งชั้นเรียนเป็น ป.1 ก ถึง ป. 1 ง และชั้น ป. 2 จัดการเรียนการสอนให้เป็นระบบขึ้น |
พ.ศ. 2468 | ได้ย้ายโรงเรียนออกจากศาลาวัดไปตั้งเป็นเอกเทศ ทางทิศตะวันออกของหมู่บ้าน ห่างประมาณ 600 เมตร สร้างเป็นอาคารชั่วคราวขึ้น ซึ่งเป็นที่ตั้งของโรงเรียนในปัจจุบัน โดยได้รับบริจาคที่ดินจากราษฎรในหมู่บ้าน มีเนื้อที่ 24 ไร่ – งาน – ตารางวา |
พ.ศ. 2470 | นายสุวรรณ โสมเจษตรินทร์ มาดำรงตำแหน่งครูใหญ่ |
พ.ศ. 2471 | นายลี นัยนวล มาดำรงตำแหน่งครูใหญ่ ต่อมาได้ย้ายไปเป็นครูใหญ่ โรงเรียนม่วงสามสิบ (อำนวยปัญญา) |
พ.ศ. 2474 | ทางอำเภอได้แต่งตั้ง นายชาลี คุณธรรม เป็นครูใหญ่ และในปีนี้เองที่ครูใหญ่ได้ร่วมกับคณะครู และนายคำดี บรรลุศิลป์ กำนัน พร้อมด้วยราษฎรในตำบลได้จัดสร้างอาคารเรียนถาวรขึ้น |
พ.ศ. 2478 | นายผอง วิริยะกุล ดำรงตำแหน่งครูใหญ่ |
พ.ศ. 2500 | นายประสงค์ สุขบุญ ดำรงตำแหน่งครูใหญ่ |
พ.ศ.2513 | นายไพบูลย์ วรรณสาย เป็นครูใหญ่ ได้รื้ออาคารหลังเก่าเพราะชำรุดมากสร้างเป็นอาคารหลังใหม่ โดยได้งบประมาณ 30,000 บาท เงินสมทบจากคณะครูและราษฎรในตำบลอีกเป็นเงิน 35,000 บาท รวมทั้งสิ้น 65,000 บาท สร้างเสร็จเมื่อวันที่ 19 ตุลาคม พ.ศ. 2514 |
พ.ศ. 2516 | นายโกวิท ชาวเหนือ เป็นครูใหญ่ |
พ.ศ. 2517 | นายประชุม วิริยะกุล เป็นครูใหญ่ |
พ.ศ. 2522 | ได้รับงบประมาณสร้างอาคารเรียน แบบ ป.1 ซ จำนวน 3 ห้องเรียน 1 หลัง ขณะนั้นมีครู 7 คน และในวันที่ 4 กันยายน พ.ศ. 2522 ได้เกิดไฟไหม้ตู้เก็บเอกสาร 1 หลังและอาคารเรียนเสียหาย ชาวบ้านได้ช่วยกันดับไฟได้ทัน วันที่ 3 มกราคม พ.ศ. 2522 นายประชุม วิริยะกุล ครูใหญ่ ได้ประสบอุบัติเหตุถึงแก่กรรม |
พ.ศ. 2523 | วันที่ 27 มีนาคม คนร้ายได้ลอบวางเพลิงอาคารเรียนหลังใหม่ทางทิศเหนือ เสียหายเล็กน้อย นายชุมพร นามแสน มาดำรงตำแหน่งครูใหญ่แทน |
พ.ศ. 2524 | นายอำนาจ นามแสน ดำรงตำแหน่งครูใหญ่ และได้รับงบประมาณสร้างส้วม 1 หลัง 5 ที่ |
พ.ศ. 2525 | ได้รับงบประมาณต่อเติมอาคารเรียน แบบ ป. 1 ซ. ชั้นล่าง และได้รับเงินบริจาคจากคณะผ้าป่าสามัคคี กรุงเทพฯ และชาวบ้าน เพื่อทำซุ้มประตู เป็นเงิน 8,000 บาท |
พ.ศ. 2526 | ได้รับงบประมาณสร้างอาคารเอนกประสงค์ แบบ สปช. 201/26 และได้รับบริจาคกลองพาเหรด 1 ชุด และอุปกรณ์ไฟฟ้า เข้าโรงเรียนจาก สจ.ธนา เมตตาริกานนท์ เป็นเงิน 8,000 บาท |
พ.ศ. 2527 | ได้รับการก่อสร้างถังเก็บน้ำฝน แบบ ฝ.33 จำนวน 6 ถัง จากสาธารณสุขและสภาตำบลหนองเหล่า |
พ.ศ.2528 | โรงเรียนได้รับอนุมัติตำแหน่งจาก ครูใหญ่ เป็น อาจารย์ใหญ่ และได้รับงบประมาณสร้างบ้านพักครู แบบ สปช.301 จำนวน 1 หลัง และบ่อเลี้ยงปลาแบบ สปช. 1 บ่อ |
พ.ศ. 2529 | โรงเรียนได้รับคัดเลือกเป็น "โรงเรียนในโครงการการศึกษาเพื่อพัฒนาหมู่บ้าน ในเขตชนบทยากจน" และได้รับอนุมัติเปิดขยายชั้นเด็กเล็กเป็นครั้งแรก |
พ.ศ. 2530 | ได้รับงบประมาณสร้างอาคารเรียน แบบ สปช.105/29 จำนวน 1 หลัง ราคา 816,000 บาท และได้รับบริจาคเพื่อสร้างบ่อน้ำบาดาล จาก คุณแม่ยุพิน สมบูรณ์ทรัพย์ และคณะผ้าป่าสามัคคีกรุงเทพฯ สร้างห้องสมุดเป็นเงิน 37,000 บาท และจาก สส.ธนา เมตตาริกานนท์ จำนวน 5,000 บาท |
พ.ศ. 2532 | ได้รับงบประมาณสร้างส้วมแบบ สปช.601/26 จำนวน 1 หลัง 4 ที่ |
พ.ศ. 2533 | ได้รับงบประมาณขุดบ่อเลี้ยงปลาจากโครงการอีสานเขียว จำนวน 1 บ่อ |
พ.ศ. 2534 | ได้รับอนุมัติตำแหน่งเป็นอาจารย์ใหญ่ ระดับ7 และได้รับงบประมาณขุดบ่อเลี้ยงปลาจากกรมประมงจำนวน 1 บ่อ |
พ.ศ. 2535 | โรงเรียนได้รับอนุมัติให้เปิดเป็น "โรงเรียนขยายโอกาสทางการศึกษา ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น" |